เล่า เล่า เล่น เล่น……
เมธีณัฐ รัตนกลุ
เจ้าหน้าที่ฝึกอบรม(ผู้ชำนาญการพิเศษ)
หัวหน้าโครงการศูนย์พัฒนาศักยภาพนิทานในการพัฒนาเด็ก
สวัสดีจ๊ะเด็กๆ…………วันนี้คุณครูจะมาเล่านิทานเรื่อง……..ให้เด็กๆกันกันนะคะ
ประโยคดังกล่าวข้างต้น เป็นประโยคที่คุ้นหูกันดีของทั้งผู้ฟังนิทานและผู้เล่านิทาน ซึ่งไม่ว่ากี่ยุคสมัยเรื่องราวของคำว่า “นิทาน” ก็มีความมหัศจรรย์ในการเสริมสร้างจินตนาการของผู้ฟังมิเสื่อมคลาย
นิทาน หมายถึงอะไร
เกริก ยุ้นพันธ์ กล่าวว่า นิทาน หมายถึง เรื่องราวที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นการผูกเรื่องขึ้น เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสนุกสนาน ตลอดจนแทรกแนวคิด เพื่อให้เด็กนำไปเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต”
ฉวีวรรณ กินาวงศ์ กล่าวว่า นิทาน หมายถึง เรื่องราวที่เล่าต่อ ๆ กันมาเป็นเวลานานแล้วแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเริ่มต้นเล่ากันมาตั้งแต่เมื่อใดการเล่านิทานก็เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินและให้ความรู้เพื่อเป็นคนดีอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและบางครั้งก็สอดแทรกเพื่อสอนใจไปด้วย
กล่าวโดยสรุป นิทาน หมายถึง เรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา เพื่อความเพลิดเพลิน สนุกสนาน สร้างจินตนาการเสริมสร้างพัฒนาการ และให้เกิดคติเตือนใจ ปลูกฝังให้เด็กเป็นคนดี ดำรงชีวิตเติบโตขึ้นอย่างมีสุข
ประโยชน์ของนิทาน
การเล่านิทานเป็นการถ่ายทอดความรู้ ทัศนคติ และแนวคิดไปสู่ผู้ฟังนิทาน เป็นกิจกรรมที่ผู้ฟังได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน และเป็นการส่งเสริมพัฒนาการที่ดีตามวัยของเด็กทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาและภาษา อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชการมารี ให้ทรงให้ความสำคัญกับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในเด็กปฐมวัย ซึ่งประโยชน์ของนิทาน ได้แก่
1. ฝึกสมาธิ ผู้ฟังนิทานมีจิตใจจดจ่ออยู่กับเนื้อเรื่องมีความตั้งใจที่จะฟัง
2. ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมโดยผ่านเนื้อเรื่องของนิทาน
3. ผู้ฟังนิทานเกิดความอบอุ่น สนใจการเรียนรู้ และส่งเสริมด้านจินตนาการ
4. ผู้ฟังเกิดทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหา
นิทานกับการเล่น
การเล่านิทานไม่ใช่เป็นแค่กิจกรรมที่เล่านิทานให้เด็กฟังอย่างเดียวแล้วจะทำให้เด็กผู้ฟังนิทานมีพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น แต่ผู้เล่าจำเป็นต้องมีวิธีการที่จะส่งเสริมอย่างต่อเนื่องจากกิจกรรมการเล่านิทาน เพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่างๆ ของเด็กผู้ฟังนิทาน ซึ่งมีหลายกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมทางภาษา กิจกรรมทางศิลปะ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้เล่า เล่านิทานประเภทนิทานพื้นบ้านหรือนิทานท้องถิ่น กิจกรรมต่อเนื่องจากการเล่านิทาน ผู้เล่าอาจจัดกิจกรรมในโดยผ่านการเล่นของเด็กๆ เช่น กิจกรรมการละเล่นไทย หรือผู้เล่าใส่เนื้อหาให้เด็กๆได้ร่วมกันแสดงบทบาทตามตัวละครระหว่างการเล่านิทาน หรือการเล่นขี่ม้า โดยใช้ก้านกล้วยเป็นบทบาทสมมุติ
การจัดกิจกรรมการเล่นต่อเนื่องจากการเล่านิทานจึงทำให้เด็กผู้ฟังนิทานเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน เสริมสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์และเป็นการแสดงออกทางอารมณ์อีกรูปแบบ
———————————————————–
เกริก ยุ้นพันธ์. (2539). การเล่านิทาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น.
ฉวีวรรณ กินาวงศ์. (2533). การศึกษาเด็ก. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์